Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content
Financial Planning
เปิดบัญชีเงินฝากและการลงทุนให้บุตร... ทำได้อย่างไร
คุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่หลายท่านเริ่มให้ความใส่ใจสร้างอนาคตการเงินที่ดีให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็กๆ ด้วยการพาลูกตัวน้อยไปเปิดบัญชีเงินฝากซึ่งก็เป็นภาพที่น่าประทับใจไม่น้อยเลยทีเดียว และยังอีกหลายท่านที่สนใจลงทุนในกองทุนรวม พันธบัตร และหุ้นในชื่อของลูกอีกด้วย แต่สำหรับบุตรผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะคืออายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์จะเป็นเจ้าของบัญชีต่างๆ เหล่านี้ได้หรือไม่ และต้องทำอย่างไร วันนี้ผมมีคำตอบให้ครับ

โดยทั่วไป เมื่อบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะทำนิติกรรมใดๆ นั้น จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้อำนาจปกครองซึ่งก็คือบิดามารดาก่อนแต่หากเป็นนิติกรรมที่สำหรับทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์แล้ว กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีข้อกำหนดว่าธุรกรรมบางประเภทแม้ผู้ปกครองจะให้ความยินยอมก็ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่จะศาลอนุญาตเท่านั้น การออมการลงทุนที่บุตรผู้เยาว์สามารถเปิดบัญชีได้ในชื่อของตนเองได้แก่ เงินฝากประเภทต่างๆ, พันธบัตรรัฐบาล, และพันธบัตรที่รัฐบาลไทยค้ำประกัน ส่วนการเปิดบัญชีกองทุนรวม บัญชีซื้อขายหุ้น รวมทั้งการถือครองหุ้นกู้เอกชนนั้นจะใช้ชื่อของบุตรผู้เยาว์ไม่ได้ รวมทั้งพ่อแม่ก็ไม่มีอำนาจในการให้ความยินยอมด้วย

ดังนั้น ต้องขออนุญาตจากศาลหรือต้องรอให้บุตรอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ก่อนจึงจะทำได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะกองทุนรวม หุ้นกู้เอกชน และหุ้นถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงจะเกิดผลขาดทุน กฎหมายจึงต้องปกป้องไม่ให้ผู้เยาว์สุ่มเสี่ยงต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดและเกิดผลเสียหายตามมา

เรื่องแรกที่อยากกล่าวถึงคือการซื้อหุ้นให้ลูก เนื่องจากเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจกันมาก แต่ติดตรงที่ไม่สามารถเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นในชื่อบุตรผู้เยาว์ได้ แต่แนวทางแก้ไขก็ไม่ได้ยากอะไรครับ เพราะกฎหมายกำหนดข้อห้ามเรื่องการทำนิติกรรมคือการเปิดบัญชีและซื้อขายหุ้น แต่ไม่ห้ามผู้เยาว์ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถซื้อหุ้นในชื่อตนเองก่อนแล้ว แปลงออกมาเป็น “ใบหุ้น”เพื่อนำไปสลักหลังโอนเป็นสินทรัพย์ของลูกต่อไป อย่างไรก็ดี หุ้นที่เลือกต้องเป็นหุ้นพื้นฐานดีเหมาะที่จะเก็บไว้สร้างความมั่งคั่งในระยะยาว

คำถามที่ตามมาคือหากหุ้นที่บุตรผู้เยาว์ถือไว้มีการจ่ายเงินปันผล จะถือเป็นเงินได้ของบุตรผู้เยาว์หรือไม่ คำตอบคือไม่ครับ กฎหมายกำหนดว่าเงินปันผลของหุ้นที่ผู้เยาว์เป็นเจ้าของถือเป็นเงินได้ของบิดามารดาซึ่งเป็นผู้ปกครอง แต่จะเป็นของบิดาหรือมารดานั้นให้ดูที่การจดทะเบียนสมรสเป็นหลัก หากสมรสจดทะเบียนให้ถือเป็นรายได้ของบิดา หากสมรสไม่จดทะเบียนแต่จดรับรองบุตรก็ให้ถือเป็นรายได้ของบิดาเช่นกัน แต่หากไม่จดทะเบียนและไม่จดรับรองบุตรจะถือเป็นรายได้ของมารดา

มาถึงจุดนี้หลายท่านอาจเริ่มสงสัยว่าในเมื่อเราสามารถโอนหุ้นได้แล้วจะสามารถโอนหน่วยลงทุนกองทุนรวมให้บุตรผู้เยาว์ได้หรือไม่ คำตอบคือโอนไม่ได้ครับ เพราะการเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนจำเป็นที่จะต้องมีบัญชีกองทุนรวมมารองรับ ซึ่งกฎหมายไม่ได้เปิดให้บุตรผู้เยาว์ทำนิติกรรมในลักษณะดังกล่าว

นอกจากประเด็นเรื่องหุ้นและกองทุนรวมแล้วการซื้อพันธบัตรให้ลูกก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน จากที่ได้กล่าวไปตอนต้นผู้เยาว์สามารถถือครองพันธบัตรรัฐบาลหรือพันธบัตรที่รัฐบาลไทยค้ำประกันได้ โดยดอกเบี้ยที่เกิดจากพันธบัตรดังกล่าวจะถือเป็นเงินได้ของบุตรผู้เยาว์ มิได้เป็นเงินได้ของบิดาหรือมารดาอย่างในกรณีเงินปันผลจากหุ้น และด้วยเหตุที่บุตรผู้เยาว์มีรายได้ จึงเป็นหน้าที่ของบิดาหรือมารดาทำหน้าที่ยื่นแบบประเมินภาษีแทนบุตรด้วย อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปเงินได้ประเภทดอกเบี้ยพันธบัตรจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งเรียกว่าเป็นภาษีสุดท้ายหรือ Final Tax ดังนั้น ผู้มีเงินได้สามารถเลือกที่จะนำเงินได้ดังกล่าวไปแสดงในแบบ ภ.ง.ด. หรือไม่ก็ได้

แนะนำเพิ่มเติมเล็กน้อยสำหรับผู้ที่สนใจซื้อพันธบัตรให้ลูกว่าควรสอบถามหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งเกี่ยวกับข้อกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อ เนื่องจากบางแห่งระบุว่าต้องอายุไม่ต่ำกว่า 7 ปี เพื่อที่เวลาจ่ายดอกเบี้ยจะสามารถนำส่งเข้าบัญชีออมทรัพย์ในชื่อเดียวกันกับผู้ถือพันธบัตร

ส่วนการสะสมความมั่งคั่งแบบสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือการเปิดบัญชีเงินฝาก ซึ่งใช้ได้กับทั้งบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ หรือเงินฝากรายเดือนแบบ 24 เดือน โดยบัญชีเหล่านี้ผู้เยาว์สามารถเป็นผู้ถือบัญชีเงินฝากได้ แต่วิธีการเปิดบัญชีจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าลูกอายุเท่าไหร่ เราสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณีดังนี้

• หากอายุตั้งแต่แรกเกิดแต่ยังไม่ครบ 7 ปี จะเปิดบัญชีเงินฝากชื่อตัวเองเพียงคนเดียวไม่ได้ ต้องเปิดในลักษณะบิดาเพื่อบุตร มารดาเพื่อบุตร หรือบิดาและมารดาเพื่อบุตร เป็นต้น

• หากอายุครบ 7 ปีและทำบัตรประชาชนแล้ว แต่ยังไม่ถึง 15 ปี สามารถเปิดบัญชีออมทรัพย์ในชื่อบุตรเพียงคนเดียวได้ แต่ผู้ปกครองต้องลงนามให้ความยินยอม

• สำหรับบุตรผู้เยาว์อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป สามารถเปิดบัญชีเงินฝากได้ด้วยตนเองเช่นเดียวกับผู้ใหญ่โดยไม่ต้องให้ผู้ปกครองลงนามยินยอม

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่สรุปมานี้จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านที่กำลังวางแผนสร้างอนาคตทางการเงินที่มั่นคงให้กับลูก ขอเป็นกำลังใจให้ทำได้ตามที่ตั้งใจไว้นะครับ



 

AUTHOR


ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษา
ลูกค้าบุคคล (K-Expert)

RELATED STORY